นักวิชาการอาวุโสจาก SEI บอกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่าในปีนี้แม่สาย “น้ำท่วมถี่เป็นประวัติการณ์” จากปกติที่เคยเกิดอุทกภัยประมาณ 2-3 ครั้งต่อปีเท่านั้น แต่ในปี 2567 พบว่าแม่สายน้ำท่วมไปแล้ว 7 ครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงครั้งล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้น โดยเขาแจกแจงออกเป็น 4 ปัจจัย ดังนี้
ฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติ
ดร.ธนพล ชี้ว่าเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลพายุยางิเท่านั้น แต่ปัจจัยหลักเป็นเพราะฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ค.- ส.ค. ซึ่งพบว่ามีปริมาณฝนมากกว่าปกติถึง 50-60% ทำให้ดินไม่มีความสามารถอุ้มน้ำไว้ได้เลย
“หมายความว่าฝนที่ตกลงมาทุกเม็ดในตอนนี้ จะกลายเป็นน้ำหลากเพียงอย่างเดียว” เขาบอก
นอกจากนี้เขายังมองว่า ฤดูฝนของไทยยังต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงกลางเดือน พ.ย. ดังนั้น แม่สายก็อาจเผชิญกับเหตุน้ำท่วมครั้งที่ 8 ในเร็ว ๆ นี้ก็เป็นได้
พื้นที่ต้นน้ำเปลี่ยนสภาพ
แม่น้ำสายมีต้นน้ำอยู่ในประเทศเมียนมาถึง 80% และมีเพียง 20% เท่านั้นที่ทอดยาวอยู่ในพื้นที่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก จากการที่เขาลงพื้นที่ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในช่วงปี 2562-2564 พบว่าสาเหตุที่ทำให้แม่สายเกิดน้ำท่วมเร็วและแรงนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณต้นน้ำซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา โดยปัจจุบันพบว่าพื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุดด้วยกัน ทำให้ศักยภาพการชะลอน้ำน้อยลดลง
ระดับแม่น้ำโขง
เขากล่าวต่อว่าเงื่อนไขท้ายน้ำของแม่น้ำสายอยู่ที่สบรวกหรือจุดบรรจบของแม่น้ำรวกและแม่น้ำโขง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีระดับสูงขึ้นมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อันเป็นผลจากระดับน้ำโขงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้การระบายน้ำของแม่น้ำสายเป็นไปได้ช้า
การขยายเมืองทั้งในฝั่งแม่สายและท่าขี้เหล็ก
ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา เขาพบว่าตัวเมืองแม่สายของไทยและท่าขี้เหล็กของเมียนมา ต่างขยายตัวเป็นเมืองขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง และหลายจุดที่เคยเป็นพื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่ระบายน้ำเดิมก็ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่อยู่อาศัย
“หากพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือสร้างบ้านอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม” เขาบอก และอธิบายต่อว่าในอดีตแม่น้ำสายเคยมีความกว้าง 130-150 เมตร แต่ปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างประชิดแนวลำน้ำเข้าไปกว่าเดิม ส่งผลให้แม่น้ำสายมีความกว้างประมาณ 20-50 เมตรเท่านั้นในช่วงพื้นที่เมือง
“พอเราบีบพื้นที่แม่น้ำให้เป็นคอคอด มันก็ทำให้การระบายน้ำสู่แม่น้ำโขงตอนล่างมีความยากลำบากมากขึ้น” รีวิวหนังเข้าใหม่ และซีรี่ย์ Netflix